ศิลปะการแสดงสุดคลาสสิกอันเก่าแก่และสวยงามบัลเล่ต์มีต้นกำเนิดเป็นการแสดงในราชสำนักอิตาลี

45

ศิลปะการแสดงสุดคลาสสิกอันเก่าแก่และสวยงาม บัลเล่ต์มีต้นกำเนิดเป็นการแสดงในราชสำนักอิตาลีตั้งแต่ยุคเรอเนซองซ์ ทว่ามามีพัฒนาการจนมีหน้าตาเหมือนบัลเลต์ในปัจจุบันที่ฝรั่งเศส และกลายเป็นการแสดงที่แพร่หลายในรัสเซีย ก่อนที่ภายหลังจะมีการเติบโตไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่อเมริกา บัลเลต์มีพัฒนาการมากมายต่างไปจากจุดเริ่มในอิตาลี ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส หรือในศตวรรษที่ 17 ซึ่งได้สร้างรูปแบบที่เป็นรากฐานของบัลเลต์คลาสสิกในปัจจุบัน กระทั่งราวปี 1850 ความรุ่งเรืองของบัลเลต์ย้ายวิกไปยังเดนมาร์กและรุ่งโรจน์สุดๆ ที่รัสเซีย จนเรียกได้ว่ากลายเป็นอาณาจักรของนักระบำปลายเท้าไปเลย

บัลเลต์น่าจะมีรากศัพท์จาก บัลเยเร ในภาษาละตินแปลว่า เต้น เกิดขึ้นอย่างบังเอิญในงานแต่งงานของชนชั้นสูงในอิตาลี ที่นักดนตรีเพียงต้องการมอบความบันเทิงให้แขกผู้มาร่วมงานเท่านั้น ก็เลย เต้นให้ชมกัน ภายหลังคณะนักเต้นประจำราชสำนักฝรั่งเศสเห็นว่า เป็นการแสดงที่น่าจะมอบความบันเทิงให้ผู้ชมได้ จึงคิดว่าน่าจะมีดนตรี บทพูด บทร้อง ท่วงท่า รวมทั้งการออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับเรื่องราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคาเทรีน เด เมดิซี หญิงสาวอิตาเลียนจากตระกูลสูงผู้หลงใหลในศิลปะ ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายเฮนรีที่ 2 ของฝรั่งเศส พระนางก็ทรงผลักดัน รวมทั้งประธานทุนช่วยเหลือในการพัฒนา “บัลโย” สู่ “บัลเลต์” ด้วย บัลเลต์สมัยเรอเนสซองซ์ในอิตาลีห่างไกลจากบัลเลต์ที่เราเห็นในทุกวันนี้ นัก กระโปรงสุ่มสั้นๆ กับรองเท้าบัลเลต์ก็ยังไม่เกิดขึ้นในยุคนั้น นักเต้นยังคงสวมใส่กระโปรงสุ่มแบบที่ปิดคลุมถึงข้อเท้าเช่นที่ผู้หญิงทั่วๆ ไปสวมใส่กัน

เวลาผ่านไปถึง 2 ศตวรรษ จึงเกิดการปฏิวัติในบัลเลต์ขึ้นที่ฝรั่งเศส อย่างที่เรียกว่าเปลี่ยนรูปแบบไปจากจุดเริ่มต้น อาจเนื่องเพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในศิลปะการแสดง รวมทั้งต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ขึ้น ในปี 1661 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดฯ ให้ก่อตั้งสถาบันการระบำ หรืออะคาเดมี รัวยาล เดอ ลา ดองส์ พร้อมๆ กันนั้น ท่าพื้นฐานของบัลเลต์คลาสสิก 5 ท่วงท่าก็ได้รับการบัญญัติขึ้น อง-บัปติสต์ ลุลยี นักแต่งเพลงชาวอิตาเลียนที่ทำงานรับใช้ราชสำนักฝรั่งเศส มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาดนตรีสำหรับบัลเลต์ตลอดศตวรรษต่อมา เขาเป็นอีกคนที่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วยความที่เขาเป็นนักเต้นเองด้วย ทำให้มีความเข้าใจในท่วงท่า และแต่งเพลงสนับสนุนความเคลื่อนไหวของนักเต้นได้เป็นอย่างดีเขาทำงานร่วมกับอง-บัปติสต์ โปเกอแลง นักเขียนบทละครเจ้าของนามปากกา โมลิแยร์ ทั้งคู่นำเอาสไตล์การละครแบบอิตาลี ทั้งสุขและโศกนาฏกรรมมาผสมผสานกันกลายเป็นบัลเลต์สนุกๆ ให้คนฝรั่งเศสชม โดยมีบัลเลต์เรื่องดัง อย่าง Le Bourgeois Gentilhomme อง-บัปติสต์ ลุลยี ยังเป็นผู้กำกับคนแรกของโรงละครแห่งสถาบันรัวยาล เดอ มูซิก ซึ่งนับเป็นสถาบันที่เป็นรากฐานของดนตรีบัลเลต์